วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2560

เตรียมตัวสอบนักการทูตอย่างไร??

อาชีพ "นักการทูต" เป็นอาชีพที่ใฝ่ฝันของใครหลายๆคนที่อยากจะทำงานด้านการต่างประเทศ รวมไปถึงเด็กรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ แผน B ที่อยากจะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระทรวงบัวแก้ว วันนี้เราจะมาแนะนำการเตรียมตัวสอบนักการทูตในทุกๆหัวข้อมาฝากน้องๆอย่างละเอียดยิบเลย ไปดูกันดีกว่าว่าเราต้องทำอย่างไรบ้าง



ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับลักษณะงานที่ปฏิบัติของนักการทูตกันก่อนนะคะ ว่านักการทูตนั้นต้องทำอะไรบ้าง 

1. ติดตามและรวบรวมข้อมูลข่าวสารด้านการทูตและการต่างประเทศ เพื่อวิเคราะห์และใช้ประกอบการกำหนดและดำเนินนโยบายของรัฐบาลในด้านการทูตและการต่างประเทศ
2. จัดทำข้อมูลภูมิหลัง ประเด็นการหารือ ประเด็นการประชุม จดบันทึกการสนทนาการประชุมและประสานงาน การเยือนต่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศ ของคณะรัฐบาลหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
3. ปฏิบัติงานด้านกงสุล เช่น งานสัญชาติและนิติกรณ์ และการช่วยเหลือคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศ
4. ปฏิบัติงานด้านพิธีการทูต เช่น การอำนวยความสะดวกด้านเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูต ให้แก่คณะทูตานุทูต และกงสุลที่ประจำการในประเทศไทย รวมไปถึงงานเกี่ยวกับระเบียบพิธีการทูต เป็นต้น
5. ปฏิบัติงานด้านสารนิเทศ เช่น การเผยแพร่ข่าวสารเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยแก่การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งติดตามข่าวสารที่เกี่ยวกับภาพลักษณ์ประเทศไทยและงานการทูตเพื่อวัฒนธรรม การทูตเพื่อประชาชน
6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆตามที่ได้รับมอบหมาย

เป็นยังไงกันบ้าง ลักษณะงานของนักการทูตนั้นมีเยอะแยะมากมายเลยทีเดียว ลบภาพนักการทูตใส่สูทหรูหราแล้วนั่งเซ็นต์งานสบายๆบนโต๊ะไปได้เลยจร้า .. 




การเตรียมตัวสอบนักการทูต

1 เดือนก่อนสอบ

แนะนำว่าเอกสารเจาะข้อสอบที่โฆษณาว่าตรงกับข้อสอบจริง 100% ที่ขายตามหน้ารามก็ดี หรือร้านซีเอ็ดก็ดี ขอบอกได้เลยว่าเลิกซื้อได้เลยค่ะ เพราะว่าข้อสอบเหล่านั้นจะไม่มีวันที่จะเอามาออกสอบซ้ำกันทุกๆปีแน่นอน แต่เราสามารถดูเป็นแนวทางได้เช่นกัน ทางที่ดีในเวลา 1 เดือนเราควรติดตามข่าวสารทั้งในและต่างประเทศให้มากๆ เอาง่ายให้น้ำหนักข่าวต่างประเทศ 80% และข่าวการเมืองและเศรษฐกิจไทย 20% ควรดูอะไรเป็นพิเศษมั้ย ความรู้ทั่วไปแน่นอนว่ามันจะต้องออกข้อสอบแบบคลอบคลุมแน่ๆ ดังนั้นเราต้องลงลึกในรายละเอียดของข้อมูลของทุกๆประเทศทั่วโลก (เวลาน้อยเอาแค่ประเทศที่สำคัญๆก็พอ หรือดูข้อมูลประเทศที่กำลังพัฒนาประกอบด้วยก็ดี เพราะมีออกสอบแน่นอน) เพราะแน่นอนคุณสมบัติของนักการทูตนั้น ต้องเป็นคนสนใจด้านการต่างประเทศในมิติต่างๆทั้งของไทยและต่างประเทศ เรื่องใดบ้าง เช่น การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมไปถึงเทคโนโลยี 

ภาษานี่ล่ะที่ทุกคนเป็นกังวลและชอบตกม้าตายทุกที แค่ภาษาอังกฤษยังไม่รอดเลย แล้วจะเอาภาษาอะไรไปตอบเขาในข้อสอบ .. รอบแรกยังไม่ต้องเอาบรรดาภาษาจีน ฝรั่งเศส เยอรมัน หรือภาษาอารบิกต่างๆมาหรอกค่ะ ยังเป็นภาษาอังกฤษที่ต้องฝึกฝนในเรื่องของ Grammar ให้คล่องแคล่ว อีกทั้งต้องจับใจความใน Reading ให้ได้ เอาแค่ 2 อย่างนี้พอ ขอให้ฝึกทำข้อสอบจาก Toeic หรือ Toefl เพราะภาษาอังกฤษระดับนักการทูตแล้วนั้น ย่อมยากกว่าระดับพื้นฐานทั่วไปที่เรียนในมัธยมและมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน




1 วันก่อนสอบ

หลายคนมักจะขะมักเขม้นในการท่องจำเนื้อหาแบบหนักหน่วง ชนิดที่ว่าไม่เข้าสมองก็ไม่ยอมนอน วิธีแบบนี้เป็นวิธีที่ผิดนะคะ ดังนั้นก่อนสอบเราควรทำสมองของเราให้ผ่อนคลาย หาอย่างอื่นทำให้คลายเครียด อย่าไปกดดันกับเนื้อหามากเกินไป เพราะจะทำให้เราลืมและสับสนในเนื้อหาได้ ทางที่ดีหากิจกรรม relax ทำในวันนั้น จะดีกว่ามาเพ่งหนังสือให้ปวดสมองเปล่าๆนะจ๊ะ ที่สำคัญก็คือ ต้องนอนหลับให้เพียงพอ ตื่นนอนขึ้นมาจะได้รู้สึกสดชื่นพร้อมเดินทางไปสอบได้ทันที




วันสอบ 

เราควรเดินทางไปถึงสนามสอบก่อนเวลาสอบอย่างน้อง 1 ชั่วโมง หรือ 30 นาที เพื่อที่จะได้มีเวลาทบทวนเนื้อหาเล็กน้อยก่อนสอบ ก่อนเข้าห้องสอบเราควรทำธุระส่วนตัวให้เรียบร้อย รับประทานอาหารเช้าด้วยไม่งั้นความหิวจะทำให้เราเบลอในเวลาสอบก็ได้นะ โดยการสอบนักการทูตนั้นจะแบ่งออกเป็นการสอบทั้งหมด 3 รอบ โดยในการสอบวันแรกและรอบแรกนั้น จะเป็นการสอบความรู้ความสามารถทั่วไปและการใช้ภาษาอังกฤษ 

- การสอบความรู้ความสามารถทั่วไป จะเป็นการสอบเกี่ยวกับความรู้ในด้านการต่างประเทศทั้งหมด จะเป็นการทำข้อสอบในเชิงลึก ลึกแม้กระทั่งชื่อนโยบายนี้เป็นของประเทศอะไร อีกทั้งนโยบายของประเทศไทยเราก็มีออกสอบด้วย และชื่อบุคคลก็ต้องนำมาจับคู่กันว่าคนนี้คือใคร และใช่หรือไม่ใช่ตำแหน่งใดในการเมืองโลก เรียกได้ว่าข้อสอบชุดนี้ปราบเซียนเลยทีเดียว ถ้าใครเตรียมตัวมาอย่างดีก็ไม่น่าห่วงหรอก ทำได้สบายๆ

- การใช้ภาษาอังกฤษ ในรอบนี้เป็นการสอบรอบบ่าย ซึ่งจะเป็นการใช้ภาษาอังกฤษแบบเติมคำในช่องว่าง บทสนทนา ขอให้นึกถึงข้อสอบ Toefl เข้าไว้ เพราะว่าเป็นแนวเดียวกันเลย และมีในส่วนของ Reading ที่คราวนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆอย่างที่เราเคยสอบ Reading ภาษาอังกฤษทั่วไป เพราะเป็นการสอบ Reading Comprehension หรือการอ่านเอาเรื่อง ที่มี Passage ยาวถึง 2 หน้ากระดาษ โอ้วแม่เจ้า!!! ยาวมากๆ ซึ่งในรอบนี้เราต้องรอบคอบและตรวจสอบให้ละเอียดสักนิดก่อนที่จะฝนคำตอบลงไปในกระดาษ




การสอบรอบที่ 2 สอบแข่งขันเพื่อวัดความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง
แบ่งการสอบออกเป็น 2 วิชา คือ 

1. วิชาความรู้ภาษาต่างประเทศ โดยในรอบนี้ต้องงัดกลยุทธ์ด้านภาษาของเราที่มีอยู่ออกมาเขียนให้ดีๆ ในวิชานี้จะประกอบไปด้วย
 1.1 เรียงความเป็นภาษาต่างประเทศ  หัวข้อนี้สามารถเขียนได้ทั้งภาษาอังกฤษ , รัสเซีย , ฝรั่งเศส , จีน , ญี่ปุ่น , เยอรมัน หรือภาษาอื่นๆตามที่เราถนัด (ภาษาเขมรก็ตอบได้นะคะ) โดยเราจะเลือกเขียนหัวข้อใดก็ได้ตามแต่จะคิด เช่น บทบาทประเทศไทยในองค์การสหประชาชาติ หรือหัวข้อเด็กๆ เช่น สังคมไทยในความคิดของฉัน ซึ่งข้อนี้จะดูความสามารถการใช้ภาษาของเราว่าเราเขียนได้ดีมากแค่ไหน
1.2 ย่อความภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ข้อนี้จะมีบทความภาษาไทยมาแล้วให้เราเขียนย่อความเป็นภาษาอังกฤษ
1.3 แปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ
1.4 แปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย

2. วิชาความรู้สำหรับนักการทูต หัวข้อนี้จะประกอบไปด้วยหัวข้อย่อยๆดังนี้ เช่นกันค่ะสามารถเขียนได้ทั้งภาษาอังกฤษ , รัสเซีย , ฝรั่งเศส , จีน , ญี่ปุ่น , เยอรมัน หรือภาษาอื่นๆตามที่เราถนัด
2.1 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (บังคับทำ)
2.2 องค์การระหว่างประเทศ
2.3 เศรษฐกิจระหว่างประเทศ
2.4 กฎหมายระหว่างประเทศ *ข้อนี้เด็กจบนิติศาสตร์จะเลือกทำ




การสอบรอบที่ 3 รอบสอบสัมภาษณ์

กว่าจะถึงการสอบสัมภาษณ์นั้น เราก็ผ่านด่านการสอบข้อเขียนมาอย่างทุลักทุเล พอมาถึงรอบนี้ซึ่งขอบอกว่า "ถ้าใครขี้อาย ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก ไม่ผ่านนะจ๊ะ" 

โดยการสอบสัมภาษณ์นั้น จะมีการพาผู้ที่สอบผ่านข้อเขียนไปเก็บตัวที่รีสอร์ทในต่างจังหวัดเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ซึ่งจะมีคณะกรรมการมาทดสอบและประเมินตัวเราในด้านต่างๆ ทั้งทางจิตวิทยา การพูดในที่สาธารณะ การหารือกลุ่ม  การทำกิจกรรมกลุ่ม หรือการสร้างสถานการณ์จำลองในรูปแบบต่างๆ ในรอบบนี้จะดูในเรื่องของบุคลิกภาพ การเสียสละ ความมีน้ำใจ ความคิดสร้างสรรค์ การปรับตัวเข้ากับผู้อื่น รวมไปถึงมารยาทในการเข้าร่วมสังคม (งดคำหยาบคาบทุกชนิดที่เคยคุยกับเพื่อนๆนะคะ ต่อให้เราเพิ่งรู้จักเพื่อนในตอนสอบสัมภาษณ์นั้น เราก็ต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน) การมีปฏิภาณไหวพริบ ความมั่นใจในตัวเอง ที่สำคัญคือ ความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศของเรา ซึ่งการเตรียมตัวของเราในรอบนี้ไม่มีอะไรมาก ถ้าใครชอบทำกิจกรรมบ่อยๆ ชอบการเข้าสังคม ก็ไม่ยาก แต่ถ้าใครไม่เคยพูดจาเข้าสังคมกับเพื่อน แนะนำให้ลองพูดคุยกับเพื่อนที่รู้จักหรือฝึกพูดให้ที่บ้านฟัง แบบว่า Speak English ให้คนอื่นฟังแบบงูๆปลาๆ ไปก่อน พอเราเริ่มจับใจความได้ค่อย Speak แบบรัวๆไปเลย ถ้าทำบ่อยๆจะเกิดความเคยชินไปเอง




เป็นยังไงบ้างคะน้องๆสำหรับการสอบนักการทูตที่อ่านดูแล้วรู้สึกว่าการสอบในแต่ละด่านนั้นมันช่างดูยากเย็นเสียเหลือเกิน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่เกินความสามารถที่เราจะทำไม่ได้หรอกค่ะ ลองเริ่มต้นทำตั้งแต่วันนี้ ฝึกฝนตัวเองตั้งแต่วันนี้ รับรองว่าในอนาคตเราจะได้เห็น "นักการทูต" จากรั้วสิงห์ทองของเราไปประดับวงการบัวแก้วอย่างแน่นอนค่ะ .. ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆหลายคนที่ฝันอยากเป็นนักการทูตนั้น ได้ประสบความสำเร็จสมความตั้งใจของตนเองนะคะ แล้วเรามาพบกันที่กระทรวงการต่างประเทศค่ะ ^_^


1 ความคิดเห็น:

  1. เสียดายเพิ่งมาเจอบทความนี้ เคยไปสอบเมื่อรอบที่แล้ว ตกม้าตายความรู้ทั่วไป ฮือๆ

    ตอบลบ